Saturday, August 25, 2012

ความรู้ทั่วไป : เรื่องของสถานีบริการน้ำมัน (ตอนที่ 1 : เด็กปั๊ม ป.ตรี ขอบ่น)

       เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (วันที่ 25 สิงหาคม 2555) ผมถึงกับตกใจกับคอลัมน์หนึ่งของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เว็บไซต์นี้ครับ

http://www.thairath.co.th/content/life/286043

       เป็นการกล่าวถึงการแนะนำผู้บริโภคที่จะต้องเติมน้ำมัน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดผมเองคิดว่ายังไม่ถูกต้องที่สุด จึงอยากจะแนะนำอธิบายเพิ่มเติมจากประสบการณ์อันน้อยนิด และจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มันติดสมองหลงเหลือจากชั้นมัธยมปลายอยู่หน่อยๆ ต้องบอกก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เข้าข้างผู้ค้าน้ำมันที่เป็นสถานีบริการ เพราะผมเป็นเด็กปั๊มหรอกนะครับ แต่ผมเข้าข้างวิทยาศาสตร์และกระบวนการต่างๆ ที่สามารถอธิบายกรณีตัวอย่างนี้ได้เป็นอย่างดี เดี๋ยวคนจะเข้าใจผิดไม่มาเติมน้ำมัน หันมาเดินเท้าแทนละแย่เลย อิอิ




       ผมขออนุญาตนำภาพที่ผมได้จากการ PrintScreen หน้าเว็บไซต์มาอ้างอิงด้วยนะครับ

1.

       ผมตลกกับข้อแรกก่อนเลย ส่วนใหญ่สถานีบริการจะปรับราคาน้ำมันขึ้้นหรือลง ได้นั้นต้องมีการแจ้งจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น บริษัทค้าน้ำมันยี่ห้อต่างๆ หรือรัฐบาลที่ประกาศชดเชยราคาน้ำมัน โดยที่จะต้องมีเวลาแจ้งกำกับมาด้วยทุกครั้ง อาจจะเป็นหลังเที่ยงคืน ประกาศทันที โดยส่วนใหญ่จะมีผลหลังเที่ยงคืนของวันที่ประกาศ เพราะจะทำให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไป แต่สาเหตุที่มีการปรับกันช่วงตี 5 เพราะเป็นช่วงที่สถานีบริการเปิดทำการ ใครจะตื่นมาปรับราคาน้ำมันช่วง "เที่ยงคืน"
       แต่ที่ผมตลกไปมากกว่านั้น คือเหตุผลที่ต้องเติมน้ำมันช่วงเช้าเพราะเชื่อว่าจะได้ปริมาณน้ำมันที่มากกว่า ห๊า.... อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ง่ายๆนะครับ สสารใดๆที่ได้รับพลังงานจนอุณหภูมิสูงขึ้นมันจะขยายตัว ถูกต้องที่เมื่ออุณหภูมิโดยรอบค่อนข้างต่ำ น้ำมันจะอยู่ในลักษณะที่ไม่พองตัว แต่อย่าลืมนะครับว่าน้ำมันไม่ได้ออกจากถังแล้วออกสู่หัวจ่ายเลยโดยตรง มันผ่านการตวงลิตรมาก่อนที่เรียกว่า Flow Meter ที่อยู่ในตู้หัวจ่ายทุกตู้ โดยเป็นลักษณะพู 4 พูทำหน้าที่ในการตรวจสอบน้ำมันในแต่ละครั้งที่เติมว่า ผู้บริโภคจะได้น้ำมันเต็มลิตรในลักษณะที่ยอมรับได้  ลักษณะที่ยอมรับได้คืออะไร คือลักษณะที่น้ำมันที่เราได้รับอยู่ในช่วง +,- ของปริมาณที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยการวัดแบบนี้ที่เรียกว่า การตวงลิตร จะมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมากำกับดูแลโดยเฉพาะคือ สำนักชั่งตวงวัดในแต่ละเขตุพื้นที่ที่รับผิดชอบ จะมาทำการตรวจสอบทุกปี เพื่อให้มีมาตรฐานที่สุดจึงต้องมีการทดสอบโดยการใช้อุปกรณ์ชั่งตวงวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ดังภาพ



       ซึ่งสำนักชั่งตวงวัด จะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการต่างๆอยู่เป็นประจำ โดยท่านสามารถสังเกตได้จากสติกเกอร์ตรวจสอบของสำนักฯ ว่ามาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้งานมีความถูกต้องเที่ยงตรง (ดังรูป) ทำให้ท่านสามารถมั่นใจได้ว่าปริมาตรน้ำมันที่จ่ายให้ท่านมีปริมาตรเต็มลิตร การทดสอบปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงที่จ่ายผ่านมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง ทำโดยการเทียบกับเครื่องตวงมาตรฐานซึ่งจะต้องมีผลการทดสอบที่ถูกต้อง จากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการร้อยลวดผูกตะกั่วประทับเครื่องหมายคำรับรองรูปขอบนอกครุฑติดไว้ที่ตัวมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันการปรับเปลี่ยนแก้ไขมาตรวัดฯ ในภายหลัง และทำเครื่องหมายคำรับรองไว้ที่แผ่นป้ายที่แสดงเลขลำดับประจำเครื่อง
ดูภาพนะครับ

เครื่องหมายรับรองจาก สำนักชั่ง ตวง วัด

ตีตราครุฑป้องกันการแก้ไข

รายละเอียดทางเทคนิคของหัวจ่าย (ต้องติดประกาศอย่างชัดเจน)


       นอกจากตรวจความเที่ยงตรงของมาตรวัดแล้วสำนักฯจะทำการตรวจอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของ มาตรวัดฯ ที่มีผลให้มาตรวัดฯ ทำงานถูกต้อง ดังต่อไปนี้ด้วย
           1. อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้อากาศที่ปะปนอยู่ในน้ำมันเชื้อเพลิงไหลผ่านเข้าไปในมาตรวัดฯ 
           2. อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้น้ำมันเชื้อเพลิงไหลย้อนกลับสู่มาตรวัดฯ 
           3. ตรวจการปรับค่าตัวเลขเป็นศูนย์ 
           4. ตรวจการทำงานของส่วนแสดงค่า ราคาลิตรละ จำนวนปริมาตร และจำนวนเงิน 
           5. ตรวจกลไกหยุดการส่งจ่าย 

       การทำงานต่างๆนั้นเกิดจากข้อกำหนดของ  พรบ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543  ไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย   http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973539&Ntype=19

       ดังนั้นทราบแล้วนะครับ น้ำมันที่เราได้รับไปนั้นเกิดจากมาตรฐานการตรวจสอบที่เป็นสากลเพียงพอ อย่าเชื่อว่าเราจะได้รับมากกว่าหากเติมน้ำมันช่วงเช้า เพราะน้ำมันกว่าจะออกมาสู่ถังน้ำมันเราได้ ถูกตรวจสอบก่อนแล้วว่าได้ครบ เต็มๆ ในลักษณะที่ยอมรับได้ แล้วนั่นเอง แต่ข้อดีของการเติมน้ำมันช่วงเช้าคือ สะดวกสบายไม่วุ่นวายแน่นอนครับ
 


2.


       ข้อนี้ถูกต้องบางส่วนครับ การเติมน้ำมันด้วยความเร็วนั้นจะทำให้น้ำมันที่อยู่ภายในถังของเราระเหยออกมามากขึ้น เพราะมันถูกกระตุ้นจากอัตราเร็วของน้ำมันในสายส่งที่เร็วกว่า น้ำมันที่นอนนิ่งๆในถังน้ำมันเรา แต่จริงๆแล้วเด็กปั๊มที่ผ่านการอบรมมาอย่างถูกต้องนั้นจะใช้ความเร็วที่พอเหมาะในการจ่ายน้ำมัน ไม่จ่ายเร็วเกิน เพราะนอกจากน้ำมันในถังเราจะระเหยเร็วแล้ว ยังเกิดอันตรายได้อีกมากโข
       แต่สิ่งที่ยังไม่ถูกต้องคือ ไอระเหยจากถังน้ำมันรถเราจะถูกดูดกลับเข้าไปในถังเก็บของสถานีบริการ อั๊ยย่ะ!!! ต้องบอกก่อนว่าข้อนี้มีอยู่สองกรณีด้วยกันนะครับ คือ

1. กรณีสถานีบริการนั้นอยู่ในกฏเกณฑ์ของ "กฏกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2550" ไปหาอ่านได้ที่นี่ www.doeb.go.th/regw/vru.pdf 
       ซึ่งปัจจุบัน(วันที่ 25 สิงหาคม 2555) ส่วนบังคับลักษณะที่ 2 ยังถูกบังคับใช้ไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ และยังบังคับใช้ได้แค่เพียงลักษณะที่ 1 เท่านั้น โดยกฏกระทรวงฉบับนี้กล่าวถึงการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ระบบแรก จนถึงปลายสายสุดคือ
     1) คลังน้ำมัน สู่ รถขนส่ง
     2) รถขนส่ง สู่ สถานีบริการ
     3) สถานีบริการ สู่ ยานพาหนะ
       ดังนั้น หากสถานีบริการที่ถูกควบคุมตามกฏกระทรวงแล้วจะมีการติดตั้งระบบดูดกลับไอระเหย ไม่ใช่ระบบดูดกลับน้ำมันนะ ดังนั้นไอระเหยที่ถูกดูดกลับจึงมีเพียงเท่าที่ระเหยเล็กน้อยเท่านั้น ถามว่าดูดกลับไปทำอะไร มันเป็นกฏที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมครับ เค้าเก็บไว้เพื่อไม่ให้ระเหยสู่บรรยากาศ เก็บไว้ในถังนั่นแหละไม่ต้องออกมาสูดดมกัน
2. กรณีนอกเหนือกฏเกณฑ์ ซึ่งสถานีบริการส่วนใหญ่จะอยู่ในข่ายนี้ กรณีนี้ไม่ต้องกลัวดูดไอระเหยกลับครับ ออกสู่บรรยากาศ เข้าปอดเด็กปั๊มเต็มๆ ฮ่าๆๆๆ




3.

       ส่วนนี้ผมเห็นด้วยนะ เติมพอเท่าที่เราจะใช้เป็นการลดน้ำหนักของรถยนต์ แต่อย่าลืมนะว่า หากไม่มีสถานีบริการน้ำมันระหว่างทางอย่างขับทางไกลไปตามชนบทต่างๆ ก็อย่าลืมคำนวณเผื่อไว้ด้วยหล่ะ



4.


       อันนี้ออกแนวหนังวิทยาศาสตร์ เซ็นเซอร์ตรวจจับน้ำมันเต็มถังที่ว่า ไม่มีนะครับ มันมีแต่ระบบตรวจสอบอากาศไหล ที่ทำหน้าที่ตัดระบบจ่ายน้ำมันที่มือจ่าย ไม่ได้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด มันเป็นแค่ท่อเล็กๆอยู่ปลายมือจ่ายน้ำมัน เมื่อเวลาที่น้ำมันขึ้นมาถึงจุดปลายสายนี้มันก็จะอัดไม่ให้มีอากาศไหลผ่านเข้าไป ทำให้ระบบภายในมือจ่ายมันตัดการจ่ายน้ำมัน มันเด้งออกนั่นแหละ มือจ่ายพวก ZYQ OPW หรือ ALLE ที่นิยมกันในประเทศไทย ผมแกะมาหมดแล้ว ไม่มีกล้องหรือเซนเซอร์ตรวจจับแต่อย่างใด เป็นการอาศัยระบบหมุนเวียนอากาศเท่านั้น แล้วอีกอย่างมอเตอร์ที่ทำการดูดน้ำมันขึ้นมาหมุนไปในทิศเดียวเท่านั้นนะครับ หมุนกลับไม่ได้ อ้อแล้วที่บอกว่าน้ำมันค้างในสายส่งไม่ลงสู่ถังน้ำมันเรามันถูกดูดกลับอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้มอเตอร์หมุนได้ทางเดียวจะดูดกลับได้ไง อีกอย่างที่หลังถังเก็บน้ำมันนั้นมีระบบที่เรียกว่า เช็ควาล์ว ทำหน้าที่ป้องกันน้ำมันไหลกลับลงสู่ถังเก็บ มันจะย้อยลงไปได้ไง Get ไหมครับ ส่วนเรื่องน้ำมันค้างในสาย คิดง่ายๆนะครับ ลองดูดน้ำโดยใช้วิธีกาลักน้ำสิครับ แบบที่สูงลงสู่ที่ต่ำ สมมติน้ำมันเต็มถัง มือจ่ายมันจะตัด ก็ปิดปลายสายน้ำเราให้สนิทซะ แล้วมันมีน้ำไหลกลับไปไหมครับ ไม่มี เหมือนกันครับ น้ำมันส่วนที่ออกสู่ถังน้ำมันแล้ว ก็จะถูกมอเตอร์ดูดมาทดแทนในสาย สาย 6 หุนยาว 4 เมตร จุน้ำมันได้ลิตรครึ่ง มันก็จะต้องมีน้ำมันมาทดแทนกันตลอดช่วง น้ำมันจึงไหลออกไปได้ ถ้าค้างสาย สายจะบวมอย่างเห็นได้ชัดสิครับ โธ่...วิทยาศาสตร์ ม.ต้นด้วยนะเนี่ย น้ำมันเมื่อผ่านมิเตอร์แล้ว ผ่านเลย ไม่เข้าถัง ก็หกครับ ไม่มีดูดกลับ



5.


       เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ที่เคยเจอก็มีแถวๆทางไปชลบุรี ประหยัดกว่าแน่นอน เพราะเขาไม่ต้องเอากำไรส่วนนั้นมาจ้างเด็กปั๊มไว้คอยบริการเราไง จึงประหยัดอย่างแน่นอน แต่ช่วงนี้สถานีบริการแบบที่ว่านี้ยังมีน้อยอยู่ครับ ไม่เหมือนต่างประเทศที่เราดูในหนัง พระเอกลงไปจ่ายเงิน แล้วกลับมาเติมน้ำมันเอง อย่างเท่ห์อ่ะ


       ลองอ่านๆดูแล้วก็ลองคิดดูนะครับว่าอย่างที่ผมบอกไปมันจริงหรือปล่าวอย่าเชื่อผม เพราะผมเป็นเด็กปั๊ม แต่ต้องเชื่อด้วยตัวท่านเอง สวัสดีครับ


ที่มา : สำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

No comments:

Post a Comment